สรุปการล่มสลาย Mt. Gox กระดานคริปโท ที่เคยใหญ่สุดในโลก /โดย ลงทุนแมน

สรุปการล่มสลาย Mt. Gox กระดานคริปโท ที่เคยใหญ่สุดในโลก /โดย ลงทุนแมน WikiBit 2021-08-22 22:24

“Mt. Gox” ที่ถูกก่อตั้งโดยผู้สร้างเหรียญ XRP แต่สุดท้าย Exchange นี้ต้องปิดตัวเพราะถูกแฮกเกอร์ขโมยบิตคอยน์จากระบบไปจำนวน 650,000 เหรียญ

  รู้หรือไม่ว่า 650,000 บิตคอยน์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาทในปัจจุบัน เคยโดนขโมยไปจากที่แห่งนี้ และเป็นสาเหตุทำให้กระดานคริปโทเคอร์เรนซีที่เคยใหญ่สุดในโลกต้องล่มสลาย ก่อนหน้าที่ Binance จะกลายเป็น Exchange ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีที่ใหญ่สุดในโลกในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้เคยมี Crypto Exchange รายหนึ่งเป็นเจ้าตลาดมาก่อน

  โดยมีส่วนแบ่งปริมาณการซื้อขายสูงถึง 80% ของการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลก Exchange นี้มีชื่อว่า “Mt. Gox” ที่ถูกก่อตั้งโดยผู้สร้างเหรียญ XRP

  แต่สุดท้าย Exchange นี้ต้องปิดตัวเพราะถูกแฮกเกอร์ขโมยบิตคอยน์จากระบบไปจำนวน 650,000 เหรียญ หากคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันจะสูงถึง 960,365 ล้านบาท

  การแฮกเป็นเพียงแค่ปลายทาง ของสาเหตุการล่มสลายแต่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาจริง ๆ คือ การบริหารจัดการที่ไม่ดีของผู้บริหาร Mt. Gox ถือเป็นตัวอย่างที่ดีว่า หากผู้บริหารไม่ดี ละเลย และขาดประสบการณ์ สามารถส่งผลที่ร้ายแรงต่อบริษัทขนาดไหน เรื่องราวของ Mt. Gox น่าสนใจอย่างไร ?

  ปลายปี 2006 โปรแกรมเมอร์คนหนึ่งชื่อว่า Jed McCaleb คิดอยากสร้างเว็บไซต์สำหรับแลกเปลี่ยนการ์ดเกมออนไลน์ที่ชื่อว่า Magic: The Gathering Online ขึ้นมาหลายคนคงคุ้นชื่อของคนคนนี้ ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะว่าเขาเป็นผู้ก่อตั้ง Ripple และเหรียญ XRP ที่เจ้าตัวชอบเทขายเป็นประจำ รวมไปถึง Stellar และเหรียญ XLM อีกด้วย

  ต่อจากเหตุการณ์ข้างต้น เขาจึงไปจดโดเมนเว็บไซต์เป็นของตัวเองชื่อว่า Mt. Gox ซึ่งย่อมาจาก Magic: The Gathering Online eXchange แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง McCaleb คำนวณแล้วว่าไม่คุ้มกับเวลา จึงเปลี่ยนไปทำโปรเจกต์อื่นแทน จนกระทั่งปี 2010 เขาได้รู้จักกับชุมชนบิตคอยน์ผ่านบอร์ดออนไลน์แห่งหนึ่ง

  ชุมชนออนไลน์นี้ทำให้ McCaleb รับรู้ว่าระบบการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีในช่วงนั้นไม่ค่อยดีนัก

  เขาจึงตัดสินใจลงไปลุยธุรกิจนี้ โดยการเปลี่ยน Mt. Gox ให้กลายเป็น Crypto Exchange แต่เวลาต่อมา McCaleb พบว่าการพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพ ต้องใช้แรงกายและเวลาอย่างมาก ดังนั้นการส่งมอบธุรกิจให้กับคนอื่นที่พร้อม ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เขาเลยขายธุรกิจให้แก่ Mark Karpeles โปรแกรมเมอร์ผู้คลั่งไคล้บิตคอยน์ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น โดยทั้งสองทำข้อตกลงเพิ่มด้วยว่า McCaleb จะยังคงได้รับส่วนแบ่ง 12% จากรายได้ตลอดไป

  หลังจากตกลงกันเรียบร้อยแล้ว Karpeles ไม่รอช้าเริ่มเขียนซอฟต์แวร์เสริมให้กับเว็บไซต์ทันที และเปิดให้ใช้บริการ Crypto Exchange อย่างเป็นทางการ

  อย่างที่รู้กัน เมื่อใดที่เกี่ยวกับเรื่องเงิน ก็เป็นปกติที่มักจะมีผู้ไม่หวังดีอยู่เสมอ

  Mt. Gox โดนแฮกครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2011 ส่งผลให้เว็บไซต์ต้องออฟไลน์เป็นเวลาหลายวัน ในเรื่องโชคร้ายก็มีโชคดีอยู่บ้าง เมื่อ Jesse Powell และ Roger Ver สองโปรแกรมเมอร์ระดับมืออาชีพจากชุมชนบิตคอยน์อาสาเข้ามาช่วยเหลือได้ทันพอดี

  จึงทำให้ Mt. Gox สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้บริษัทกลายเป็นที่ชื่นชอบของชุมชนบิตคอยน์ เพราะปกติแล้วบริษัท Crypto Exchange รายอื่น ๆ หลังจากโดนแฮกแล้ว มักจะปิดตัวลงโดยทันที แต่ Mt. Gox ที่บริหารโดย Karpeles กลับไม่ได้ทำเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม 2 อาสาสมัครแปลกใจว่าทำไม Karpeles ถึงดูนิ่งเฉยกับเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างมาก

  ขนาดที่ว่าเขายังประกาศหยุดงาน ทั้ง ๆ ที่ปัญหายังแก้ไขไม่สำเร็จแต่สุดท้ายทั้งสองก็ไม่ได้คิดอะไรและแยกย้ายกลับไป หลังจากนั้นเป็นต้นมา Mt. Gox ยังคงให้บริการ Crypto Exchange เรื่อยมา จนกระทั่งปี 2013 บริษัทได้ขึ้นแท่นมาสู่อันดับ 1 ของ Crypto Exchange ทั้งด้านมูลค่าปริมาณการซื้อขายที่สูงที่สุดในโลก ด้วยปริมาณสูงถึง 80% ของโลก รวมถึงเป็น Crypto Exchange ที่ได้รับความเชื่อถือจากเหล่าบริษัทต่าง ๆ

  ในตอนนั้นราคาบิตคอยน์ พุ่งทะยานแตะ 30,000 บาทจาก 300 บาท ภายในเวลาเพียง 1-2 ปีเท่านั้น ส่งผลให้ Karpeles กลายเป็นมหาเศรษฐีในชั่วพริบตา

  จากการเป็นทั้งผู้ถือเหรียญบิตคอยน์ และเจ้าของบริษัท Mt. Gox แม้ว่าฐานะทางการเงินและผลประกอบการของบริษัทจะเติบโตไปในทิศทางที่ดี แต่ Karpeles ก็ยังดูไม่ให้ความสำคัญกับการบริหารบริษัทให้ดีนัก บางครั้งดูละเลยด้วยซ้ำ เช่น Karpeles ไม่ค่อยลงทุนในซอฟต์แวร์ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของนักพัฒนา

  บ่อยครั้งพนักงานเหล่านี้ ต้องเสียเวลาในการเขียนโคดขึ้นมาเองใหม่หมด

  อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับธุรกิจคือ Karpeles รวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ตนเอง ส่งผลให้การจะทำอะไรสักอย่างเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและยุ่งยากมากขึ้น

  อย่างเช่น Karpeles เป็นเพียงคนเดียวที่สามารถอนุมัติการเปลี่ยนแปลงโคดของเว็บไซต์ได้ แสดงว่าหากเว็บไซต์เกิดปัญหาขึ้นมา จะต้องรออนุมัติจากเขาก่อน

  ซึ่งจากคำกล่าวของพนักงานบางรายบอกว่า ที่ผ่านมามีหลายครั้ง พวกเขาต้องใช้เวลานานเกือบสัปดาห์ถึงจะสามารถแก้ไขโคดที่เป็นปัญหาได้

  และที่หนักหนาที่สุดคือหลายครั้งที่ระบบ Crypto Exchange มีการอัปเดต บริษัทไม่มีการทดสอบระบบ พวกเขาปล่อยให้ใช้บริการโดยทันที นั่นหมายความว่า ระบบอาจยังหลงเหลือข้อผิดพลาด ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายต่อลูกค้า การบริหารที่ย่ำแย่ของ Karpeles ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่จะส่งผลเลวร้ายโดยทันที แต่ค่อย ๆ สร้างปัญหาทีละเล็กทีละน้อย จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในที่สุด

  จากการไม่สนใจเรื่องกฎระเบียบระหว่างประเทศ Mt. Gox ถูกหน่วยงานของสหรัฐอเมริกายึดเงินจำนวน 166 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทไม่ได้ลงทะเบียนกับรัฐบาลในฐานะตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ ต่อมา Mt. Gox ถูกฟ้องเป็นเงิน 2,500 ล้านบาทโดยอดีตหุ้นส่วนธุรกิจชื่อ CoinLab ด้วยสาเหตุจากความล่าช้าของการถอนเงินจากบัญชีในระบบ แค่ 2 เรื่องนี้ก็ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับวงการการเงิน ส่งผลให้ความนิยมของ Mt. Gox ค่อย ๆ ตกอันดับลงไปอยู่อันดับที่ 3 แต่อย่างที่หลายคนคงจะคาดเดาได้ไม่ยาก Karpeles ยังไม่ใส่ใจกับการแก้ปัญหานี้เลย

  เขากลับหมกมุ่นในโครงการใหม่แทนที่มีชื่อว่า The Bitcoin Cafe โครงการร้านแฮงเอาต์สุดเก๋ โดยตั้งอยู่ในอาคารเดียวกับสำนักงาน Mt. Goxซึ่งทุกอย่างภายในร้าน สามารถชำระด้วยบิตคอยน์มีรายงานว่า Mt. Gox ใช้เงินจำนวนถึง 33 ล้านบาทสำหรับโครงการนี้โดยเฉพาะซึ่งหากพิจารณาโครงการนี้แล้ว จะพบว่าแทบไม่สำคัญต่อธุรกิจหลักเลยแต่เขาก็ยังคงทุ่มเทแรงกาย แรงใจ รวมถึงเม็ดเงินไปกับโครงการนี้ เมื่อทุกอย่างถูกสะสมจนเข้าที่ เหตุการณ์เลวร้ายก็ได้เริ่มขึ้น

  ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014 Mt. Gox ก็มีข่าวเซอร์ไพรส์แก่ลูกค้า อยู่ดี ๆ บริษัทสั่งระงับการถอนบิตคอยน์ทั้งหมด แต่ไม่ระงับการซื้อขายบนกระดาน

  โดยให้สาเหตุว่า ระบบ Crypto Exchange มีปัญหาทางเทคนิคบางอย่าง จึงต้องระงับการถอนบิตคอยน์ไปก่อน ผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ Mt. Gox ก็ยังคงไม่อนุญาตให้ผู้ใช้งานถอนเงินออกไปได้ จนทำให้เกิดการประท้วงอย่างหนักที่หน้าอาคารที่บริษัทตั้งอยู่ Mt. Gox จึงได้ย้ายสำนักงานไปอยู่ที่อื่น โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของบริษัท ช่วงเวลานี้ราคาบิตคอยน์บนกระดาน Mt. Gox ลดลงเหลือ 20% เมื่อเทียบกับรายอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนถึงการคาดการณ์ของตลาดว่า บริษัทไม่น่าจะสามารถจ่ายเงินให้กับลูกค้าที่ทำการถอนได้

  และแล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปตามนั้นจริง Mt. Gox ระงับการซื้อขายทั้งหมด

  หลายชั่วโมงต่อมา เว็บไซต์ของ Mt. Gox ก็เป็นหน้าว่างเปล่า และบริษัทก็ได้ยื่นขอล้มละลายในเวลาต่อมา ปล่อยให้ลูกค้าหลายรายต้องสูญเสียเงิน โดยในภายหลังมีข้อมูลเปิดเผยออกมาว่า สาเหตุที่ Mt. Gox ปิดตัวลง ก็เพราะบริษัทโดนแฮกเกอร์ขโมยบิตคอยน์มาตลอดหลายปี ซึ่งเป็นจำนวนถึง 650,000 เหรียญ แต่บริษัทปกปิดปัญหาและไม่ยอมแก้ไข จึงนำไปสู่การล้มละลายในท้ายสุด เหตุการณ์ในครั้งนั้น ถูกตีเป็นมูลค่าความเสียหาย 15,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นอันดับ 3 ของเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายในโลกคริปโทเคอร์เรนซีเลยทีเดียว

  ถ้าหากถามว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นความผิดของใคร ?

  ส่วนหนึ่งก็คงตอบได้ว่าแฮกเกอร์ แต่อีกส่วนสำคัญที่ไม่แพ้กันเลยคือ การบริหารจัดการที่ล้มเหลวของ Karpeles.. ซึ่งหากเขาวางแผนและเตรียมตัวป้องกันหลังจากโดนแฮกครั้งแรก ก็คงไม่เจอกับจุดจบเช่นนี้ นี่จึงเป็นตัวอย่างที่สำคัญว่า ทำไมผู้บริหารถึงสำคัญต่อธุรกิจมาก ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมากอย่าง ตลาดซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี นั่นเอง.. ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ

  เหตุการณ์ Mt. Gox ถึงแม้จะถูกแฮกไป 650,000 บิตคอยน์ แต่ถ้าเทียบกับมูลค่าในสมัยนั้นจะมีมูลค่าแค่ 15,000 ล้านบาท สำหรับเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายในโลกคริปโทเคอร์เรนซีอันดับ 1 เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้เอง โดยเกิดขึ้นกับ Poly Network เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมูลค่าความเสียหายในครั้งนี้มีมากถึง 20,000 กว่าล้านบาท แต่โชคดีที่คราวนี้แฮกเกอร์อ้างว่าแฮกเพื่อความสนุกเท่านั้น จึงทยอยคืนเงินในภายหลังจนใกล้ครบแล้ว...

  แอปพลิเคชั่น ‘Wikibit’ มีฟีเจอร์โดนๆ สำหรับนักลงทุน อย่าง การตรวจสอบ Exchange และ Token เพื่อช่วยให้การตัดสินใจในการลงทุนของคุณนั้นง่ายขึ้น เพียงแค่คุณกดค้นหาเท่านั้น ข้อมูลที่คุณควรรู้ก็จะปรากฏขึ้นมาแบบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น คะแนนความน่าเชื่อถือจากแอป ใบอนุญาต ข้อมูลโครงการ การเยี่ยมชมจากเจ้าหน้าที่เพื่อยืนยันการมีอยู่ของบริษัทนั้นตามที่ได้แจ้งข้อมูลกับทาง ก.ล.ต. เพื่อขอใบอนุญาต ถือว่าครบจบในแอปเดียว อย่ารอช้าโหลดเลย!

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ:

มุมมองในบทความนี้แสดงถึงมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน สำหรับแพลตฟอร์มนี้ไม่รับประกันความถูกต้องครบถ้วนและทันเวลาของข้อมูลบทความ และไม่รับผิดชอบต่อการสูญเสียใด ๆ ที่เกิดจากการใช้ข้อมูลในบทความ

Exchange ที่เกี่ยวข้อง
XRP
XRP
คะแนนชื่อเสียง
Ripple | 10-15ปี
  • แปลงโทเค็น
  • การแปลงอัตราแลกเปลี่ยน
  • การคำนวณอัตราแลกเปลียน
/
ชิ้น
อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้
จำนวนเงินที่สามารถแลกได้

0.00