ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ Utility Token พร้อมใช้ คาดเริ่มใน Q2/66

ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ Utility Token พร้อมใช้ คาดเริ่มใน Q2/66 WikiBit 2023-01-26 15:03

ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ Utility Token พร้อมใช้ คาดเริ่มใน Q2/66

  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับเกณฑ์ utility token พร้อมใช้ ในตลาดแรกและตลาดรอง โดยปรับปรุงหลักการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของแต่ละประเภท มีกลไกคุ้มครองผู้ซื้อขายที่เหมาะสม และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยมีหลักการกำกับดูแลที่สำคัญแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย (1) “utility token พร้อมใช้ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภค” เช่น บัตรกำนัลดิจิทัลที่ออกในรูปของโทเคน โทเคนที่ให้สิทธิในการแลกบัตรคอนเสิร์ต และงานศิลปะ รูปภาพ เพลง แสตมป์หรือวีดีโอในรูปแบบ non-fungible token (NFT) ซึ่งมีการให้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ถือ NFT และ (2) “utility token พร้อมใช้ ที่ใช้แทนใบรับรอง (certificate) หรือแสดงสิทธิต่าง ๆ” เช่น ใบรับรองพลังงานทดแทน ใบกำกับภาษี และโฉนดที่ดิน

  สำหรับ utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1 จะได้รับยกเว้นการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน และยกเว้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยโทเคนดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) ตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด* และผู้ออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (issuer) จะต้องไม่เปิดให้มีการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับผลตอบแทน (staking) เว้นแต่เป็นการ staking เพื่อการลงคะแนนเสียง (voting) หรือเข้าร่วมกิจกรรม หรือเพื่อได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมใน ecosystem

  นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำ utility token กลุ่มที่ 1 มาจดทะเบียนซื้อขาย และห้ามนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการเกี่ยวกับ utility token ดังกล่าว

  utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย utility token พร้อมใช้ ประเภทอื่นนอกจากกลุ่มที่ 1 เช่น (1) utility token ที่ให้สิทธิในการเข้าถึงสินค้าและบริการบน Distributed Ledger Technology (DLT) รวมทั้ง Decentralized Finance (DeFi) (2) utility token พร้อมใช้ ประจำศูนย์ซื้อขายฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้งานบนศูนย์ซื้อขายฯ ในการชำระค่าธรรมเนียมเป็นส่วนลดค่าธรรมเนียม ใช้สะสมเพื่อเลื่อนระดับสมาชิกโดยในแต่ละระดับจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน (exchange token) (3) utility token พร้อมใช้ ที่ให้สิทธิออกเสียงเพื่อปรับเปลี่ยนหรือตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการทางธุรกิจ (governance token) และ (4) utility token พร้อมใช้ ประจำโครงการที่ให้บริการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะ Centralized Finance (CeFi) เป็นต้น

  สำหรับ utility token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ที่ประสงค์จะนำไปจดทะเบียนบนศูนย์ซื้อขายฯ ต้องได้รับอนุญาตการเสนอขายจาก ก.ล.ต. โดยผู้เสนอขายต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (filing) และหนังสือชี้ชวน รวมทั้งเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ทั้งนี้ โทเคนดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็น MOP ตามแนวทางที่ ธปท. กำหนด** และผู้ออกเสนอขายจะต้องไม่รับ staking เว้นแต่เป็นการ staking ในลักษณะที่กำหนด ได้แก่ การใช้เป็นกลไกยืนยันธุรกรรม หรือเพื่อการลงคะแนนเสียง หรือเข้าร่วมกิจกรรม หรือเพื่อได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมใน ecosystem

  นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายฯ เพื่อให้มีความเหมาะสม เช่น หลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (listing rule) และหลักเกณฑ์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rule) และหลักเกณฑ์การติดตามและตรวจสอบสภาพการซื้อขาย (market surveillance) ด้วย

  ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศเกี่ยวกับการกำกับดูแล utility token พร้อมใช้ ไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=867 และระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: thanapatk@sec.or.th thapanee@sec.or.th หรือ ponwat@sec.or.th จนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ:

มุมมองในบทความนี้แสดงถึงมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน สำหรับแพลตฟอร์มนี้ไม่รับประกันความถูกต้องครบถ้วนและทันเวลาของข้อมูลบทความ และไม่รับผิดชอบต่อการสูญเสียใด ๆ ที่เกิดจากการใช้ข้อมูลในบทความ

  • แปลงโทเค็น
  • การแปลงอัตราแลกเปลี่ยน
  • การคำนวณอัตราแลกเปลียน
/
ชิ้น
อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้
จำนวนเงินที่สามารถแลกได้

0.00